top of page

คู่มือ  และ  แผนปฏิบัติการ
การดำเนินงานโครงการทุนการศึกษา
สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร

ปี ๒ ๕ ๕ ๕

 

 ๑.   ความเป็นมา

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงมีพระราชดำริให้ดำเนิน โครงการทุนการศึกษาสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามกุฎราชกุมาร ขึ้นเมื่อปี ๒๕๕๒ ด้วยพระราชปณิธานที่มุ่งสร้างความรู้ สร้างโอกาสแก่เยาวชนไทยที่มีฐานะยากจนยากลำบาก แต่ประพฤติดีมีความสามารถ
ในการศึกษา ให้ได้รับโอกาสทางการศึกษาที่มั่นคงต่อเนื่องในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย จนสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรีตามความสามารถของแต่ละคน เป็นการลงทุนเพื่อพัฒนาความรู้ความสามารถและศักยภาพแก่เยาวชนไทย โดยทรงมีพระราชบัณฑูร แต่งตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการทุนพระราชทานขึ้น โดยพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาฯ เป็นองค์ประธานกรรมการ และมีสำนักงานราชเลขานุการในพระองค์ฯ ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ทำหน้าที่ฝ่ายเลขานุการ เพื่อกำหนดกรอบหลักเกณฑ์ วิธีการดำเนินโครงการและกลั่นกรอง คัดเลือก คัดสรรนักเรียนทุนพระราชทานและประสานกับกลไกระดับจังหวัดที่ทุกจังหวัดจัดตั้งขึ้น เพื่อดำเนินการกระบวนการคัดเลือก คัดสรร นักเรียนผู้สมควรได้รับทุนพระราชทาน

ต่อมา ในปี ๒๕๕๓ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงมีพระราชดำริให้จัดตั้งมูลนิธิทุนการศึกษาพระราชทานสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร (ม.ท.ศ.) ขึ้น โดยพระองค์ทรงเป็นองค์ประธานกรรมการ และพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาฯ
ทรงเป็นองค์รองประธาน ทรงให้นำโครงการทุนการศึกษาสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร มาอยู่ภายใต้การดำเนินงานของมูลนิธิฯ ด้วยพระราชปณิธานที่มุ่งสร้างโอกาสทางการศึกษาอย่างต่อเนื่องและมีความยั่งยืนสืบต่อไป โดยการดำเนินงานโครงการทุนการศึกษาฯ ภายใต้มูลนิธิฯ ระหว่างปี ๒๕๕๓ – ๒๕๕๔ คณะกรรมการมูลนิธิฯ และคณะกรรมการบริหารจัดการทุนพระราชทาน ได้น้อมรับพระราชดำริไปกำหนดหลักเกณฑ์การพระราชทานทุนและวิธีการกลั่นกรอง คัดเลือก คัดสรร นักเรียนที่มีคุณสมบัติเหมาะสม เพื่อรับทุนการศึกษาพระราชทานในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายสายสามัญและสายอาชีพ ต่อเนื่องไปจนจบการศึกษาในระดับปริญญาตรี ในสาขาวิชาที่สอดคล้องกับความรู้ ความสามารถและความต้องการของผู้เรียน

 

โดยที่การดำเนินงานกลั่นกรอง คัดเลือก คัดสรร นักเรียนผู้สมควรได้รับการพิจารณาเข้ารับพระราชทานทุนฯ เป็นความร่วมมือของ สำนักงานราชเลขานุการในพระองค์ฯ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ร่วมประสานดำเนินงานกับคณะกรรมการระดับจังหวัด ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน และผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาเขต ๑ เป็นฝ่ายเลขานุการ (ปัจจุบันคือ เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา เขต ๑) เพื่อดำเนินกระบวนการแสวงหา คัดเลือก คัดสรร และมีการสุ่มตรวจสอบข้อมูลเชิงประจักษ์เพิ่มเติม ด้วยการลงพื้นที่เยี่ยมบ้าน พบปะพูดคุยสอบถามข้อมูลจากตัวเด็ก พร้อมสัมภาษณ์ผู้ปกครองและผู้ที่เกี่ยวข้อง นำข้อมูลข้อเท็จจริงมาประกอบการพิจารณากลั่นกรอง และจัดลำดับความสำคัญในสองลำดับแรกของทุกจังหวัด ซึ่งเน้นให้ความสำคัญสูงที่สภาพความเป็นอยู่ในครอบครัว ความยากลำบาก ความไม่มั่นคงในอาชีพ การมีรายได้ไม่แน่นอน อยู่ในสภาวะเสี่ยงที่ต้องเผชิญ ความมุ่งมั่นในการเรียน และความเพียรพยายามช่วยเหลือพึ่งพาตนเอง

การดำเนินงานโครงการทุนการศึกษาฯ ตั้งแต่ปี ๒๕๕๒ – ๒๕๕๔ มีนักเรียนผู้ได้รับทุนพระราชทานไปแล้ว รวม ๓ รุ่น จำนวน ๔๕๘ ราย เป็นนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายสายสามัญ ๓๙๘ ราย และสายอาชีพ ๖๐ ราย โดยจัดสรรเงินทุนพระราชทานไปแล้ว รวมทั้งสิ้น ๑๖,๘๓๔,๐๐๐ บาท

 ๒.   วัตถุประสงค์การดำเนินโครงการ

๒.๑      เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนเด็กยากจนที่เรียนดี ประพฤติดี มีคุณธรรม  ด้วยการพระราชทานทุนการศึกษาในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายสายสามัญ สายอาชีพ ให้กับผู้ที่กำลังศึกษาอยู่ในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๓ ที่กำลังจะจบการศึกษาได้มีโอกาสศึกษาต่อระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย
สายสามัญ สายอาชีพ และศึกษาต่อเนื่องไปจนจบการศึกษาระดับปริญญาตรี ทั้งจะยังได้พระราชทานทุนเป็นกรณีๆ ให้กับผู้ที่กำลังศึกษาอยู่ในชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายสายสามัญและ
สายอาชีพในปีสุดท้าย ได้มีโอกาสศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีโดยไม่มีภาระผูกพันต้องใช้ทุนคืน

๒.๒      เพื่อเสริมสร้างศักยภาพของเด็กยากจนในทุกจังหวัดทั้งชายและหญิง ให้มีความรู้ในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายสายสามัญ สายอาชีพ จนถึงระดับปริญญาตรี และมีทักษะความสามารถพัฒนาตนเอง ตลอดจนยกระดับความสามารถในการประกอบอาชีพ อันจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาความยากจนอย่างยั่งยืน

 

 ๓.   หลักการแนวคิดและกลุ่มเป้าหมาย

๓.๑    หลักการแนวคิด

            การดำเนินโครงการทุนการศึกษาสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร มีหลักการแนวคิดมุ่งพระราชทานทุนการศึกษาให้แก่เด็กยากจนที่เรียนดี ประพฤติดี ตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษาตอนปลายทั้งสายสามัญและสายอาชีพ ต่อเนื่องไปจนจบการศึกษาระดับปริญญาตรี ในสาขาวิชาที่สอดคล้องกับความรู้ ความสามารถและความต้องการของผู้เรียน โดยยึดหลักให้มีการกระจายทุนครบในทุกจังหวัด  ระยะเริ่มแรก : พระราชทานทุนให้จังหวัดละ ๒ ทุน โดยให้มีความเท่าเทียมระหว่างเพศของผู้รับพระราชทานทุน เป็นทุนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายสายสามัญและสายอาชีพ ต่อเนื่องจนจบปริญญาตรี สำหรับระยะต่อไป จะพิจารณาขยายจำนวนทุนเพิ่มขึ้นตามความเหมาะสม นอกจากนี้ จะพิจารณาให้ครอบคลุมถึงการพระราชทานทุนการศึกษาระดับปริญญาตรีเป็นการเฉพาะกรณี ๆ

๓.๒    กลุ่มเป้าหมาย

            (๑)    กลุ่มเป้าหมายหลักเพื่อรับพระราชทานทุนการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายสายสามัญและสายอาชีพต่อเนื่องจนจบการศึกษาระดับปริญญาตรี :  เป็นนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๓ ที่มีฐานะยากจน เรียนดี ประพฤติดี มีคุณธรรม ในทุกจังหวัดทั่วประเทศ จังหวัดละ ๒ คน (ชาย ๑ คน หญิง ๑ คน) ที่มีผลการเรียนในช่วงระดับมัธยมศึกษาตอนต้น คะแนนเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า ๓.๐๐ และมาจากครอบครัวที่มีรายได้ไม่เกิน ๒๐๐,๐๐๐ บาทต่อปี โดยที่ การดำเนินงานในกลุ่มเป้าหมายนี้เริ่มมาตั้งแต่ปี ๒๕๕๒ ต่อเนื่องในทุกปี

          (๒)   กลุ่มเป้าหมายเฉพาะเป็นกรณีเพื่อรับพระราชทานทุนการศึกษาระดับปริญญาตรี เป็นกรณีๆ ไปตามความเหมาะสมและจำเป็น ขึ้นกับการพิจารณาของคณะกรรมการฯ : เป็นนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายสายสามัญและสายอาชีพที่มีฐานะยากจน เรียนดี ประพฤติดี มีคุณธรรม ในทุกจังหวัดทั้งชายและหญิง ที่มีผลการเรียนในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายสายสามัญและสายอาชีพ คะแนนเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า ๓.๐๐ และมาจากครอบครัวที่มีรายได้ไม่เกิน ๒๐๐,๐๐๐ บาทต่อปี โดยที่ผ่านมายังไม่มีการดำเนินงานในกลุ่มเป้าหมายนี้

 

 

 ๔.   เงื่อนไข หลักเกณฑ์ในการพระราชทานทุน

            การดำเนินโครงการทุนการศึกษาสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร จะไม่ใช้วิธีการประกาศรับสมัคร และไม่มีการสอบแข่งขัน แต่จะดำเนินการโดยการแสวงหา คัดเลือก คัดสรร และกลั่นกรอง จนได้ผู้มีสิทธิ์เข้ารับพระราชทานทุน ซึ่งต้องมีคุณสมบัติตรงตามเงื่อนไขหลักเกณฑ์ที่โครงการฯ กำหนดไว้ ดังนี้

๔.๑   คุณสมบัติของผู้มีสิทธิ์เข้ารับการคัดเลือกรับพระราชทานทุน

            (๑)     กรณีทุนพระราชทานระดับมัธยมศึกษาตอนปลายสายสามัญ และสายอาชีพ ต้องเป็นนักเรียนที่กำลังเรียนในเทอมสุดท้ายของชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๓ ที่มีผลการเรียนดี มีความประพฤติดี มีคะแนนเฉลี่ยในระดับช่วงชั้นที่ ๓ ใน ๔ ภาคเรียนที่ผ่านมา ไม่ต่ำกว่าระดับ ๓.๐๐ และคาดว่าจะจบการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนต้นหรือระดับช่วงชั้นที่ ๓ ด้วยคะแนนเฉลี่ยที่ไม่ต่ำกว่าระดับ ๓.๐๐ โดยมีความประสงค์จะเรียนต่อระดับมัธยมศึกษาตอนปลายสายสามัญ หรือสายอาชีพ ต่อเนื่องจนจบปริญญาตรี

            (๒)     เป็นผู้มีฐานะยากจนมีความยากลำบาก โดยครอบครัว ซึ่งหมายถึงบิดามารดารวมกัน หรือบิดา หรือมารดาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ในกรณีที่หย่าร้างหรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเสียชีวิต หรือผู้ปกครองโดยชอบธรรมในกรณีที่บิดามารดาไม่ใช่ผู้ปกครอง (ไม่นับรวมญาติพี่น้อง) ซึ่ง
ต้องมีรายได้ทั้งครอบครัวไม่เกิน ๒๐๐,๐๐๐ บาทต่อปี ทั้งนี้ จะต้องมีหลักฐานแสดงรายได้ ดังนี้

                     (๒.๑)   กรณีบิดามารดาหรือผู้ปกครองโดยชอบธรรมมีเงินเดือนและรายได้แน่นอน ให้ใช้ใบรับรองเงินเดือนเป็นหลักฐาน

                 (๒.๒)   กรณีที่บิดามารดาหรือผู้ปกครองโดยชอบธรรมมีรายได้ไม่แน่นอน ต้องมีการรับรอง รายได้เป็นลายลักษณ์อักษร โดยให้ถือเป็นความรับผิดชอบของคณะกรรมการคัดเลือก คัดสรร ผู้รับพระราชทานทุนและประสานงานระดับจังหวัดที่ต้องดำเนินการอย่างเปิดเผย โปร่งใส และตรวจสอบได้

                 (๒.๓)   กรณีบิดามารดาหย่าร้างหรือเสียชีวิต ให้พิจารณาจากรายได้ของผู้ปกครองโดย
ชอบธรรม หรือของตนเองในกรณีที่ไม่มีผู้ปกครองโดยชอบธรรม

            (๓)     มีสัญชาติไทย และเป็นผู้มีความประพฤติดี มีวินัย มีความรับผิดชอบ และมีมนุษยสัมพันธ์ดี

            (๔)     มีความใฝ่รู้ มีคุณธรรม และมีความจงรักภักดีต่อประเทศชาติและสถาบันพระมหากษัตริย์

 

๔.๒   เงื่อนไขข้อปฏิบัติสำหรับผู้ได้รับพระราชทานทุน

            (๑)     ทุนการศึกษาพระราชทานในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายทั้งสายสามัญ และสายอาชีพต่อเนื่องไปจนจบระดับปริญญาตรี รวมทั้งทุนการศึกษาพระราชทานในระดับปริญญาตรีเฉพาะกรณี ๆ นั้น ผู้ได้รับพระราชทานทุนจะต้องศึกษาตามหลักสูตร และระยะเวลาที่สถานศึกษากำหนด และประพฤติปฏิบัติตนอยู่ในระเบียบวินัย ใช้จ่ายเงินทุนพระราชทานอย่างคุ้มค่าให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยจะอยู่ในความดูแลของคณะกรรมการบริหารจัดการทุนพระราชทาน และกระทรวงศึกษาธิการ

            (๒)     คณะกรรมการบริหารจัดการทุนพระราชทาน มีสิทธิ์เสนอให้ยกเลิกการให้ทุน หากประเมินผลระหว่างการศึกษาแล้วปรากฏว่า ผู้ได้รับพระราชทานทุนมีความประพฤติ
ไม่สมควร ไม่เหมาะสม หรือมีผลการเรียนต่ำลงจากที่เป็นอยู่โดยปกติ /ต่ำกว่าเกณฑ์เรียนดี อย่างไม่มีเหตุผลอันสมควร ทั้งนี้ ในการพิจารณายกเลิกทุน คณะกรรมการบริหารจัดการทุนพระราชทาน จะพิจารณาเป็นรายบุคคล โดยจะนำข้อมูลปัญหา อุปสรรคและปัจจัยที่เกี่ยวข้องที่ส่งผลต่อการเรียนของแต่ละคนมาพิจารณาอย่างรอบคอบ

            (๓)     ผู้ได้รับพระราชทานทุนไม่มีภาระผูกพันที่ต้องใช้ทุนคืน และเมื่อจบการศึกษาในระดับปริญญาตรีแล้ว จะเปิดโอกาสให้สามารถสมัครเข้าทำงานเป็นข้าราชบริพารได้ตามสมัครใจ

 ๕.   กลไกบริหารจัดการและกระบวนการขั้นตอนคัดเลือก คัดสรรผู้รับพระราชทานทุน

๕.๑   กลไกบริหารจัดการและประสานดำเนินงานโครงการ

            การดำเนินงานโครงการทุนการศึกษาฯ ภายใต้มูลนิธิทุนการศึกษาพระราชทานสมเด็จ
พระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร (ม.ท.ศ.) มีคณะกรรมการมูลนิธิฯ ทำหน้าที่กำกับอำนวยการระดับนโยบาย และมีกลไกบริหาร กำกับ ดูแลการดำเนินงานโครงการทุนการศึกษาฯ ที่ต้องบูรณาการ และประสานการทำงานร่วมกัน ดังนี้

  • กลไกกำกับดูแลและบริหารจัดการทุนพระราชทาน-“คณะกรรมการบริหารจัดการทุนพระราชทาน” เป็นกลไกที่ทำหน้าที่กำกับดูแลและบริหารจัดการให้การดำเนินงานโครงการทุนการศึกษาพระราชทานฯ บรรลุตามวัตถุประสงค์ เป้าหมาย และทำหน้าที่กำหนดวิธีการกลั่นกรอง คัดเลือกผู้มีสิทธิ์เข้ารับพระราชทานทุนให้เหลือตามจำนวนเป้าหมายที่กำหนด รวมทั้งจัดให้มีกระบวนการลงพื้นที่สุ่มตัวอย่างตรวจสอบข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์ เพื่อประกอบการกลั่นกรองคัดเลือกคัดสรร ตลอดจนจัดการดูนักเรียนทุนพระราชทาน และติดตามประเมินผล โดยพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าศรีรัศมิ์พระวรชายาฯ ทรงเป็นองค์ประธานกรรมการ   องค์ประกอบคณะกรรมการฯ  มีผู้ทรงคุณวุฒิ

 

และส่วนราชการทั้งจาก สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ  สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษาสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ร่วมดำเนินงาน และมีสำนักงานราชเลขานุการในพระองค์ฯ ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ทำหน้าที่ฝ่ายเลขานุการ

            (๒)    กลไกคณะอนุกรรมการฯ ด้านต่างๆ ภายใต้คณะกรรมการบริหารจัดการทุนพระราชทาน  เพื่อให้การดำเนินงานของคณะกรรมการบริหารจัดการทุนพระราชทานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ จึงได้มีการจัดตั้งคณะอนุกรรมการฯ ขึ้นรวม ๓ ชุด เพื่อช่วยเหลือการปฏิบัติงานในด้านการขับเคลื่อนงานของมูลนิธิฯ และติดตามและประเมินผลการดำเนินโครงการ ซึ่งมีเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเป็นประธาน ด้านการประชาสัมพันธ์เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารการดำเนินงานโครงการ ซึ่งมีเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นประธาน และด้านการพัฒนาเครือข่ายและสร้างเสริมกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ ซึ่งมีปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เป็นประธาน

            (๓)    กลไกระดับจังหวัด- “คณะกรรมการคัดเลือก คัดสรรผู้รับพระราชทุนและประสานงานระดับจังหวัด : จังหวัด........”  เป็นกลไกที่กระทรวงมหาดไทยร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการกำหนดให้ทุกจังหวัดจัดตั้งขึ้น โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานกรรมการ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นรองประธาน และผู้แทนจากส่วนราชการ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ตลอดจนผู้ทรงคุณวุฒิ ที่แต่ละจังหวัดเห็นสมควร รวมทั้งอาจมีผู้แทนจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาร่วมเป็นกรรมการ โดยมีผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเขต ๑ ของทุกจังหวัดทำหน้าที่ฝ่ายเลขานุการ

                     คณะกรรมการฯ  ระดับจังหวัดที่จัดตั้งขึ้นนี้ จะเป็นกลไกหลักในพื้นที่ที่มีบทบาทประสานดำเนินการคัดเลือก คัดสรรผู้รับพระราชทานทุน โดยทำหน้าที่          พิจารณากำหนดรายละเอียดหลักเกณฑ์วิธีปฏิบัติดำเนินการคัดเลือก คัดสรร และดำเนินการกระบวนการคัดเลือกคัดสรรตรวจสอบคุณสมบัติ จัดทำข้อมูลที่เกี่ยวกับผู้มีสิทธิ์เข้ารับพระราชทานทุน และรายงานการคัดเลือกและรายชื่อผู้มีสิทธิ์พร้อมข้อมูลที่ผ่านการตรวจสอบ รับรอง และจัดลำดับความสำคัญ โดยคณะกรรมการฯ ระดับจังหวัดแล้ว นำเสนอต่อคณะกรรมการบริหารจัดการทุนพระราชทาน นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ ระดับจังหวัดยังทำหน้าที่ในการดูแลช่วยเหลือนักเรียนทุน และติดตามผลการเรียน ความประพฤติ และการใช้จ่ายเงินทุนพระราชทานของนักเรียนทุนพระราชทาน และรายงานผลในทุกภาคเรียน และทุกปีการศึกษาเสนอคณะกรรมการบริหารจัดการทุนพระราชทานอย่างต่อเนื่อง

                     (หมายเหตุ : เนื่องจากในปี ๒๕๕๔ กระทรวงศึกษาธิการได้ปรับโครงสร้างมีการจัดตั้ง สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา ขึ้นในบางจังหวัด และปรับเปลี่ยนสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาที่มีอยู่เดิมในทุกจังหวัด มาเป็นสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา ดังนั้น ในองค์ประกอบของคณะกรรมการฯ ระดับจังหวัด จังหวัดอาจพิจารณาเพิ่มกรรมการจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา ได้ตามความเหมาะสม ทั้งนี้ สำหรับหน่วยงานที่ทำหน้าที่ฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการฯ ยังคงให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา เขต ๑ ของทุกจังหวัด ดำเนินการอย่างต่อเนื่องไปก่อน)

๕.๒   แนวทางและกระบวนการขั้นตอนการดำเนินการคัดเลือก คัดสรรผู้รับพระราชทานทุน ในปี ๒๕๕๕

การดำเนินงานในปี ๒๕๕๕ จะดำเนินการโดยยึดเป้าหมายการจัดสรรทุนพระราชทานรวม ๑๕๔ ทุน ต่อเนื่องจากปี ๒๕๕๔ (จังหวัดละ ๒ ทุน ชาย ๑/หญิง ๑) เป็นทุนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายสายสามัญและสายอาชีพ โดยมีคณะกรรมการฯ ระดับจังหวัดทำหน้าที่ดำเนินการแสวงหา คัดเลือก คัดสรรนักเรียนที่กำลังเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๓ ในภาคเรียนที่ ๒/๒๕๕๔ ที่มีคุณสมบัติตรงตามหลักเกณฑ์เงื่อนไขที่กำหนด โดยคณะกรรมการฯ ระดับจังหวัดดำเนินการตามแนวทางและขั้นตอน ดังนี้

(๑)    รวบรวมจัดทำทะเบียนบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิ์รับพระราชทานทุนอย่างทั่วถึง จากทุกสังกัด ทุกเขตพื้นที่ในจังหวัด ภายใต้เงื่อนไข คุณสมบัติ และหลักเกณฑ์ที่กำหนด พร้อมด้วยข้อมูล
ที่เกี่ยวข้องในทุกๆ ด้าน ทั้งในระดับบุคคลและครัวเรือน

(๒)    กำหนดรายละเอียดกระบวนการ ขั้นตอน และเกณฑ์ในขั้นวิธีปฏิบัติดำเนินการในจังหวัดเพื่อดำเนินการคัดเลือก คัดสรรอย่างโปร่งใสเป็นธรรม มีการกระจายโอกาสการคัดเลือก
คัดสรรครอบคลุมโรงเรียนทุกสังกัดในพื้นที่จังหวัด เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ เงื่อนไข และคุณสมบัติที่กำหนด

(๓)    ดำเนินกระบวนการคัดเลือก คัดสรรรายชื่อผู้มีสิทธิ์เข้ารับพระราชทานทุน จากทะเบียนบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิ์ทั้งหมดที่รวบรวมไว้ โดยกำหนดให้มีกระบวนการตรวจสอบข้อมูลเชิงประจักษ์ ด้วยวิธีการสัมภาษณ์ และการเยี่ยมบ้าน เพื่อนำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการฯ ระดับจังหวัดพิจารณาจัดลำดับความสำคัญ ซึ่งมีความจำเป็นอย่างมากเพื่อให้การพิจารณาข้อมูลเชิงเปรียบเทียบของนักเรียนเป็นไปอย่างรอบด้าน เป็นธรรม

(๔)    โดยที่เกณฑ์การจัดลำดับความสำคัญของคณะกรรมการฯ ระดับจังหวัด ควรให้ความสำคัญในลำดับสูงที่สภาพความยากลำบาก ความเป็นอยู่ในครอบครัว ความไม่มั่นคงในอาชีพและรายได้ สภาวะความเสี่ยงที่ต้องเผชิญ/โอกาสในการเรียนต่อ ความมุ่งมั่นในการเรียน และความเพียรพยายามช่วยเหลือพึ่งพาตนเอง เพื่อคัดสรรรายชื่อผู้มีสิทธิ์เข้ารับ

         พระราชทานทุนในจำนวนที่มากกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ ๒-๓ เท่าตัว (ประมาณจังหวัดละ ๔-๖ ราย) โดยให้มีสัดส่วนชายและหญิงเท่าๆ กัน ทั้งนี้ กรณีจังหวัดใหญ่ที่มีขนาดจำนวนประชากรรวมของจังหวัดเกิน ๑ ล้านคนขึ้นไป ให้คัดสรรเสนอรายชื่อผู้มีสิทธิ์เข้ารับพระราชทานทุนได้จังหวัดละ ๘-๑๐ ราย โดยมีสัดส่วนชายและหญิงเท่าๆ กัน

(๕)    นำเสนอรายงานสรุปผลพร้อมรายชื่อผู้มีสิทธิ์เข้ารับพระราชทานทุนจังหวัดละ ๔ – ๖ ราย ที่มีการจัดลำดับความสำคัญแล้ว และผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการฯ ระดับจังหวัด พร้อมด้วยรูปถ่ายและข้อมูลระดับบุคคลและครัวเรือนดังกล่าว ส่งให้ คณะกรรมการบริหารจัดการทุนพระราชทาน ซึ่งเป็นกลไกในส่วนกลางพิจารณาตามขั้นตอน เพื่อกลั่นกรองและคัดสรรให้เหลือตรงตามจำนวนเป้าหมายทุนพระราชทานที่กำหนด ให้จังหวัดละ ๒ ราย ชายและหญิงเท่าๆ กัน

การดำเนินการของคณะกรรมการบริหารฯ และคณะอนุกรรมการฯภายใต้โครงการทุนการศึกษาพระราชทานฯ จะมีการตรวจสอบข้อมูลเชิงประจักษ์ของนักเรียน ที่คณะกรรมการฯ ระดับจังหวัดเสนอรายชื่อตามลำดับความสำคัญไว้ โดยมีทีมงานฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการฯและอนุกรรมการฯ จากส่วนกลางร่วมกันดำเนินการ ดังนี้

(๑)    ลงพื้นที่สุ่มตรวจสอบข้อมูลเชิงประจักษ์ ของนักเรียนผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นผู้มีสิทธ์เข้ารับพระราชทุนตามลำดับความสำคัญ๔-๖ ราย หรือ ๘-๑๐ ราย ให้ครบถ้วนในทุกๆ ด้าน ด้วยการเยี่ยมบ้าน สัมภาษณ์นักเรียนและผู้ปกครอง ดูข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์เพิ่มเติม เพื่อนำผลมาประกอบการพิจารณากลั่นกรอง

(๒)    ประมวลจัดทำรายงานสรุปผลการกลั่นกรอง คัดเลือก คัดสรร รายชื่อผู้เข้ารับพระราชทานทุน รุ่นที่ ๔ เพื่อนำเสนอที่ประชุมคณะกรรมการบริหารจัดการทุนพระราชทาน และคณะกรรมการมูลนิธิทุนการศึกษาพระราชทานฯ พิจารณาต่อไป

 ๖.   กรอบวงเงินการจัดสรรทุนพระราชทาน

การพระราชทานทุนการศึกษาที่จะจัดสรรให้กับเยาวชนยากจนที่เรียนดี ประพฤติดี มีคุณสมบัติตรงตามเงื่อนไขหลักเกณฑ์ที่กำหนด ได้กำหนดกรอบวงเงินให้ครอบคลุมทั้งค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับการศึกษา รวมตลอดทั้งค่าครองชีพ เพื่อให้ได้รับค่าใช้จ่ายที่เพียงพอทั้งในด้านการเรียนและความเป็นอยู่ อันจะทำให้สามารถใช้ชีวิตในการเรียนได้อย่างเต็มตามประสิทธิภาพ โดยมีกรอบวงเงินการจัดสรรทุนพระราชทาน ตามอัตราดังปรากฏรายละเอียดตามตาราง

กรอบวงเงินการจัดสรรทุนพระราชทาน จำแนกตามระดับและสาขาการศึกษา

ระดับการศึกษา)

๑.    มัธยมศึกษาตอนปลาย

๖,๐๐๐

๑๒,๐๐๐

๑๘,๐๐๐

๒.    ประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.)

๑๐,๐๐๐

๑๒,๐๐๐

๒๒,๐๐๐

๓.    ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส./ปวท.)

 

-เป็นไปตามอัตราที่คณะกรรมการมูลนิธิฯ กำหนด-

๔.    ระดับปริญญาตรี

หมายเหตุ : กรณีทุนพระราชทานในระดับดับปริญญาตรีหรือเทียบเท่า ในปีการศึกษา ๒๕๕๕ จะต้องเป็นไปตามเงื่อนไขคุณสมบัติที่คณะกรรมการมูลนิธิฯ กำหนด

กลุ่มเป้าหมายผู้รับทุนพระราชทานในระดับปริญญาตรีหรือเทียบเท่า ในปีการศึกษา ๒๕๕๕ เป็นนักเรียนทุนฯ รุ่นที่ ๑ ในโครงการทุนการศึกษาพระราชทานสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ที่เรียนดี ประพฤติดี มีคุณธรรม และกำลังจะจบการศึกษาในช่วงชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายสายสามัญและสายอาชีพในปีการศึกษา ๒๕๕๔ ด้วยคะแนนเฉลี่ยที่ไม่ต่ำกว่า ๓.๐  มีฐานะยากจนมาจากครอบครัวที่มีรายได้ไม่เกิน ๒๐๐,๐๐๐ บาทต่อปี

เงื่อนไขและคุณสมบัติของผู้รับทุนพระราชทานฯ

(๑)           เป็นนักเรียนทุนฯ รุ่นที่ ๑ ในโครงการทุนการศึกษาพระราชทานฯ ที่กำลังเรียนในเทอมสุดท้ายของช่วงชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายสายสามัญ/สายอาชีพ (ม.๖/ปวช.๓) ในปีการศึกษา ๒๕๕๔ มีฐานะยากจนยากลำบาก มีผลการเรียนดี มีความประพฤติดี มีคะแนนเฉลี่ยในระดับช่วงชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายสายสามัญ/สายอาชีพ ใน ๕ ภาคเรียนที่ผ่านมา ไม่ต่ำกว่าระดับ ๓.๐๐ และคาดว่าจะจบการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายสายสามัญ/สายอาชีพ ด้วยคะแนนเฉลี่ยที่ไม่ต่ำกว่าระดับ ๓.๐๐ โดยมีความประสงค์จะเรียนต่อระดับปริญญาตรี หรือเทียบเท่า

(๒)     สามารถสอบผ่านการคัดเลือก หรือได้รับคัดเลือกให้เข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาตรี หรือเทียบเท่า ในสถานศึกษาของรัฐ หรือในกำกับของรัฐเท่านั้น (ไม่รวมเอกชนและไม่รวมมหาวิทยาลัยเปิด) โดยนักเรียนสามารถเลือกศึกษาต่อในคณะ/สาขาวิชา ได้ตามความถนัดเป็นไปตาม ความต้องการของตน โดยระยะเวลาของการศึกษาจะต้องเป็นไปตามหลักสูตรและระยะเวลาที่สถานศึกษากำหนด

(๓)     เป็นผู้ที่มีความจงรักภักดีต่อสถาบันชาติ ศาสนา และสถาบันพระมหากษัตริย์ มีวินัย ใฝ่เรียนรู้ มีคุณธรรม มีความรับผิดชอบและมนุษย์สัมพันธ์ที่ดี

            ทั้งนี้ จะได้แจ้งรายละเอียดพร้อมแนวปฏิบัติเป็นการเฉพาะ สำหรับกรณีการจัดสรรทุนพระราชทานในระดับปริญญาตรีหรือเทียบเท่า สำหรับนักเรียนทุนพระราชทานฯ รุ่นที่ ๑ให้คณะกรรมการฯ ระดับจังหวัดได้ทราบต่อไป

© 2023 by HEAD OF THE CLASS. Proudly created 

PR / T 123.456.7890 / F 123.456.7899 

bottom of page